ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์เท่าใด?
ผู้ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ หรือให้เร็วที่สุดตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยแพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อตรวจครรภ์ตลอดช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงวันคลอดตามความเหมาะสมและตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขณะตั้งครรภ์
ขั้นตอนของการฝากครรภ์
สำหรับการนัดตรวจครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะทำการซักประวัติและทำการตรวจเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
• การซักประวัติผู้ป่วย ได้แก่ วันที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด การใช้ยาหรืออาหารเสริม ประวัติการป่วยของสมาชิกภายในครอบครัว โรคทางอายุรกรรม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่หรือไม่
• ตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อตรวจวัดสัญญาณชีพจร และตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อตรวจเช็กปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงอาจมีการตรวจภายในตามข้อบ่งชี้
• ตรวจเลือด ในการเข้ารับการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคและประเมินความเสี่ยงโรคที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อต่าง ๆ ภูมิคุ้มกันของมารดาและหมู่เลือด
ทั้งนี้ หากคุณแม่มีปัญหาสุขภาพบางประการ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมในเรื่องอื่นๆ และจะทำการนัดตรวจครั้งต่อไปจนถึงครบกำหนดคลอด โดยผลการตรวจจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ซึ่งคุณแม่ต้องนำพกติดตัวไปด้วยเสมอ หากเกิดภาวะฉุกเฉินแพทผู้ดูแลย์จะได้สามารถทำการรักษาให้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามอายุครรภ์และภาวะแทรกซ้อนจำเพาะราย
การเลือกสถานที่ฝากครรภ์
คุณแม่มือใหม่สามารถเลือกฝากครรภ์ได้ทั้งที่คลินิก ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดควรเลือกสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้และสามารถเดินทางได้สะดวก เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจะได้เดินทางไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ สำหรับผู้ตั้งครรภ์ที่มีประวัติการรักษาโรคมาก่อน เช่น โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง การเลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะแพทย์จะมีทั้งประวัติการรักษาและประวัติการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลขณะตั้งครรภ์และการวางแผนดูแลระหว่างคลอดด้วยนั่นเอง